หลุมขนมครก เมื่อนำมาปฏิบัติ จะแตกต่างตามพื้นที่ลุ่ม และพื้นที่สูง แบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ
ในพื้นที่ลุ่มใช้รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นที่สูง ใช้การ “เปลี่ยนเขาหัวโล้น เป็นเขาหัวจุก”
1. พื้นที่ลุ่ม : โคกหนองนา โมเดล คือ รูปธรรมของหลุมขนมครก ซึ่งเรียกให้ง่ายต่อการจดจำ
– โคก การนำดินที่ได้จากการขุดหนอง นำมาถมเป็นโคกเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งปลูกต้นไม้ตามแนวทางศาสตร์พระราชา คือ “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ได้แก่ ไม้เพื่อบริโภค (พอกิน) เพื่อใช้สอยในครัวเรือน (พอใช้) และเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย (พออยู่) ป่าทั้ง 3 อย่าง ให้ประโยชน์อย่างที่ 4 คือช่วยสร้างสมดุลระบบนิเวศ (พอร่มเย็น) ปลูกเป็นป่า 5 ระดับคือ สูง กลาง เตี้ย เรี่ยดิน และพืชหัว ใบไม้ที่ร่วงหล่นช่วยปกคลุมหน้าดินเพิ่มความชุ่มชื้น
น้ำใต้ดินที่สะสมไว้ใต้โคก เมื่อฝนตกลงมาบนโคกที่มีต้นไม้จำนวนมาก น้ำจะค่อยๆ ไหลซึมลงมาเก็บไว้ใต้โคก รากต้นไม้ซึ่งต่างระดับกันจะช่วยรักษาหน้าดิน และกักเก็บน้ำไว้ใต้ดินกลายเป็นแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน ช่วยสร้างความชุ่มชื้น เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นดิน
– หนอง ขุดหนองให้ขอบมีความคดโค้ง เพื่อให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของปลา ปรับพื้นหนองให้มีความลึกหลายระดับ ส่วนที่แสงแดดส่องถึง ปลาจะสามารถวางไข่ได้ดี
คลองไส้ไก่ ช่วยกระจายน้ำรอบพื้นที่ ขุดให้มีลักษณะคดเคี้ยว เพื่อให้น้ำไหลผ่านทั่วพื้นที่ เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนดิน ส่งผลดีต่อการทำเกษตรและการปลูกพืชผล
ฝายชะลอน้ำ รับและชะลอน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำหรือพื้นที่ข้างเคียง ช่วยดักตะกอนดินไม่ให้ไหลลงมาสะสมในหนอง คลอง บึง และเขื่อน นอกจากนั้นยังเป็นการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่
– นา ยกหัวคันนา เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ในนา โดยให้มีความสูงประมาณ 1 เมตร และปั้นหัวคันนาให้มีความกว้างเพื่อปลูก “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” และปลูกแฝก เพื่อป้องกันการพังทลายของคันนา คันนาจะใช้เป็นเครื่องมือในการปรับระดับน้ำเข้านาตามความสูงของต้นข้าว เกิดเป็นนาน้ำลึก ใช้น้ำในการควบคุมวัชพืชและแมลงตามภูมิปัญญาท้องถิ่น
2. พื้นที่สูง : เปลี่ยน “เขาหัวโล้น” เป็น “เขาหัวจุก”
เมื่อประยุกต์ใช้ โคกหนองนา โมเดล ให้เข้ากับภูมิสังคม พื้นที่ภูเขาคือโคกตามธรรมชาติ จึงไม่จำเป็นต้องสร้างโคกอีก ส่วนหนองนั้นเปลี่ยนเป็นการกั้นฝายในพื้นที่ร่องเขาเพื่อเก็บน้ำไว้ ทำนาขั้นบันได โดยยกหัวคันนาสูงและกว้าง เพื่อเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาบนภูเขาให้ได้มากที่สุด สร้างบ่อเก็บน้ำจากวัสดุในพื้นที่ไว้ด้านบน เพื่อปล่อยน้ำผ่านคลองไส้ไก่ หรือที่เรียกว่าลำเหมืองกระจายให้ทั่วพื้นที่ และปลูกแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อพอกิน พออยู่ พอใช้ และคืนความร่มเย็นให้ระบบนิเวศ รูปแบบนี้จะใช้พื้นที่เพียง 10 ไร่ สามารถให้ผลผลิตมากกว่าการปลูกข้าวโพดทั้งภูเขา
– โคก พื้นที่สูงในลักษณะภูเขาเป็นโคกโดยธรรมชาติ จึงเน้นการปลูก “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” เพื่อช่วยสร้างสมดุลระบบนิเวศ แต่เนื่องจากพื้นที่ขาดความชุ่มชื้น จึงต้องเพิ่มความชุ่มชื้นให้กลับคืนมาด้วยการสูบน้ำจากร่องเขามาที่บ่อเก็บน้ำ และกระจายผ่านลำเหมืองให้ทั่วพื้นที่ “เขาหัวจุก”
– หนอง เกิดจากการกักน้ำไว้ในร่องเขาให้เพิ่มระดับสูงขึ้นด้วยการทำฝายชะลอน้ำ
บ่อเก็บน้ำ สร้างบ่อเก็บน้ำไว้บนที่สูง โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ เช่น ไม้ไผ่ ทำบ่อโครงไม้ไผ่ฉาบปูน สูบน้ำจากฝายขึ้นบ่อด้วยพลังงานทดแทน เมื่อน้ำเกินปริมาณกักเก็บของบ่อ ปล่อยน้ำไหลลงคลองไส้ไก่ หรือ “ลำเหมือง” ซึ่งขุดไล่ตามระดับชั้นความสูงของพื้นที่ เพื่อกระจายความชุ่มชื้น
– นา ทำนาขั้นบันได ยกหัวคันนาสูงและกว้าง เพื่อกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาไว้ในท้องนา และปลูกแฝกชะลอการพังทลายของดิน ทำนาน้ำลึกเป็นนาอินทรีย์โดยการใช้น้ำควบคุมวัชพืช และเร่งระดับความสูงของต้นข้าว เพิ่มผลผลิต
คัดลอกจาก : http://www.monmai.com/
____________________________________________________________________________
เราชาวไทยเป็นชนเผ่าที่โชคดีที่สุดในโลกนี้ ที่มีผู้คิดแนวการดำรงชีพที่ยั่งยืนให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายลงทะเบียนไปศึกษา เพื่อให้ได้วิชานั้นมา มาชมคลิปที่เล่าเรื่องนี้ครับ แนวทางทั้งหมดสามารถนำไป COPY&PASTE ได้เลยครับ
โคก หนอง นา โมเดล ตอนที่ 1
โคก หนอง นา โมเดล ตอนที่ 2
โคก หนอง นา โมเดล ตอนที่ 3
โคก หนอง นา โมเดล ตอนที่ 4
โคก หนอง นา โมเดล ตอนที่ 5
โคก หนอง นา โมเดล ตอนที่ 6
โคก หนอง นา โมเดล ตอนที่ 7
โคก หนอง นา โมเดล ตอนที่ 8
____________________________________________________________________________
____________________________________________________________________________
เกษตรทฤษฎีใหม่ ตอนที่ 1
เกษตรทฤษฎีใหม่ ตอนที่ 2
เกษตรทฤษฎีใหม่ ตอนที่ 3
เกษตรทฤษฎีใหม่ ตอนที่ 4
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น